วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(1) ความเป็นมาและความสำคัญของการศึกษา



          ถิ่นกำเนิดของยางพารา อยู่ในทวีปอเมริกาใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในประเทศบราซิล ยางพาราเป็นที่รู้จักของชาวพื้นเมืองในแถบนั้นมานาน มีการนำยางพารามาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น ทำขวดปากแคบใส่น้ำ รองเท้า ผ้ากันฝน ลูกบอลสำหรับเล่มเกมส์ต่างๆ เป็นต้น

          ชาวยุโรปเพิ่งจะรู้จักยางพาราเมื่อครั้งที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางไปอเมริกาครั้งที่ 2 ในระหว่างปี พ.ศ. 2036 - 2039 หลังจากนั้นได้มีการสำรวจ และได้นำเมล็ดยางพาราจากประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ไปปลูกในประเทศอาณานิคมของอังกฤษ หลายๆ ประเทศ เช่น ศรีลังกา สิงคโปร์ และมาเลเซีย พืชที่สามารถให้น้ำยาง และสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้นั้น ได้แก่ ตระกูล Euphorbiaceae ; Hevea spp. มีถิ่นกำเนิดแถบลุ่มน้ำอเมซอนในประเทศบราซิล เพราะให้น้ำยางในปริมาณที่มากกว่า องค์ประกอบทางเคมีของน้ำยาง ความหนืดของน้ำยาง และอัตราการไหลของน้ำยางที่ดีเหมาะแก่การผลิตเพื่ออุตสาหกรรมในทุกพื้นที่ปลูก มีชื่อเรียกทั่ว ๆ ไปว่า ยางพารา (Para rubber) ตามชื่อเมือง para ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดในบราซิล หรือ Hevea rubber ตามชื่อตระกูล

การนำยางพาราเข้ามาในประเทศไทย


เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้ง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้นำยางพาราจากรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย มาปลูกที่อำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง ในระหว่างปี พ.ศ. 2442 – 2444 ซึ่งภายหลังท่านได้ส่งเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ไปศึกษาวิธีปลูกยางพารา และนำมาถ่ายทอดให้แก่ราษฎรที่มีความสนใจ ยางพาราได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจมาตั้งแต่ในอดีต รองลงมาจากข้าว ทำรายได้ให้กับประเทศปีละนับหมื่นล้าน พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี จึงได้รับการยกย่องและให้เกียรติ์ว่าเป็น “บิดาแห่งยางพาราไทย”

          ยางพาราไทย เป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีความผูกพันกับชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่โบราณนับร้อยๆ ปี ด้วยคุณค่าและความสำคัญของยางพาราที่เป็นทั้งพืชที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ยังเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำรายได้ให้กับประเทศรองลงมาจากข้าว ส่วนประกอบต่างๆ ของต้นยางพารา สามารถนำมาประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์ธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การนำใบยางมาประดิษฐ์เป็นงานหัตถกรรม ทำให้เกิดการ่วมมือ สามัคคีในชุมชน และทำให้เกิดรายได้, การนำเมล็ดยางพารามาสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล นอกจากจะได้ใช้ผลผลิตจากยางพาราที่ทำให้เกิดคุณค่ามหาศาลแล้ว ยังทำให้การลดการสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ด้วยประโยชน์หลากหลายของต้นยางพารา เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจ และมีคุณสมบัติในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้โดยตรง จากการศึกษาของศูนย์วิจัยฉะเชิงเทรา พบว่า ยางพารามีคุณสมบัติสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 1.72 เมตริกตัน/ไร่/ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกยางกว่า 14.35 ล้านไร่ ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละไม่น้อยกว่า 16.54 เมตริกตัน

          จะสังเกตได้ว่า ยางพารา เป็นพืชที่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนมายาวนาน มีบทวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะโลกร้อน และเป็นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น และเมื่อเกษตรกรไทยในยุคปัจจุบันได้มีการละทิ้งอาชีพการเกษตร หันไปรับวัฒนธรรมต่างชาติ ที่เน้นเรื่องการผลิตมากๆ เป็นอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ ทำให้ภูมิปัญญายางพาราที่ดีบางอย่างค่อยๆ เลือนหายไป ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันฟื้นฟูภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยางพาราให้ทัดเทียมความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ศึกษามีความสนใจศึกษาเรื่อง “ยางพารา ภูมิปัญญาไทย ใส่ใจโลกร้อน” โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาดังนี้

วัตถุประสงค์การศึกษา
          - เพื่อศึกษาลักษณะทางพฤษศาสตร์ของต้นยางพาราในประเทศไทยที่สามารถนำมาเสริมสร้างเศรษฐกิจหลักให้ประเทศมีความเข้มแข็ง
          - เพื่อศึกษาผลงานวิจัยของต้นยางพารา ที่มีคุณสมบัติทางธรรมชาติ ในการลดภาวะโลกร้อน
          - เพื่อศึกษาผลกระทบของภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยางพารา

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
          - การศึกษาคุณประโยชน์จากส่วนประกอบต่างๆ ของต้นยางพารา จะทำให้คนในท้องถิ่นหันมาศึกษาการปลูกยางพารา เกิดกระบวนการเรียนรู้สามารถนำส่วนประกอบต่างๆ ของต้นยางพารามาประยุกต์ สร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
          - ผลการวิจัยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างยางพารากับสิ่งแวดล้อม พบว่ายางพาราช่วยลดภาวะโลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้คนทั่วไปหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติมากขึ้น เป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น
          - การที่รัฐบาลให้การสนับสนุนให้ชุมชนมีการปลูกยางพาราโดยการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความรักใคร่สามัคคีกัน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มีความเข้มแข็งและยั่ง.

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(2) ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของต้นยางพารา

  ยางพาราเป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ มีอายุยืนยาวหลายสิบปี ปัจจุบันมีต้นยางพาราที่มีอายุมากๆ ในป่าลุ่มแม่น้ำอเมซอนเป็นจำนวนมาก ต้นที่เจริญเติบโตในประเทศบราซิลและในประเทศข้างเคียง ลำต้นวัดโดยรอบได้กว่า 3 – 5 เมตร ถ้าเป็นต้นที่สมบูรณ์และอยู่ในที่ที่ระบายน้ำได้ดี จะมีความสูงถึง 40 เมตร แต่ต้นที่ปลูกในทวีปเอเชียจะเล็กลงมาก ลำต้นของต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะโตประมาณ 1 - 2 เมตร และถ้าเป็นต้นติดตา ลำต้นจะโตไม่เกิน 1 เมตร ส่วนความสูงก็ ลดลงเหลือเพียงประมาณ 15 - 20 เมตรเท่านั้น ต้นยางมีเปลือกที่น้ำยางจะไหลออกได้ หนาประมาณ 6.5 - 15 มิลลิเมตร ทรงต้นที่สมบูรณ์มักจะสูง ชะลูด กิ่งแยกมักแยกตั้งขึ้นไปประมาณ 45 องศาจากลำต้น ใบมักจะรวมเป็นพุ่มที่ส่วนปลายของกิ่ง แต่ละก้านใบแยกออกเป็น 3 ใบ แต่ละใบใน 3 ใบกว้างประมาณ 5 - 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ในทางพฤกษศาสตร์ได้จัดให้ต้นยางพาราอยู่ในวงศ์ ยูฟอร์เบียซีอี (Family Euphorb iaceae) ในสกุลฮีเวีย (Genus Hevea) ชนิดบราซิไลเอ็นซิส (Species brasiliensis) ต้นยางฮีเวีย มีประมาณ 20 ชนิด แต่ปรากฏว่า ฮีเวียบราซิไลเอ็นซิส (Hevea brasiliensis) เป็นชนิดที่ให้น้ำยางมากที่สุด และเนื้อยางก็มีคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ดีกว่ายางชนิดอื่นๆ จึงปลูกกันแต่พันธุ์ฮีเวียบราซิไล เอ็นซิส เท่านั้น

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของต้นยางพารา มีดังนี้

1. ราก (Roots)


ยางพารามีระบบรากเป็นระบบรากแก้ว (tap root system) ประกอบด้วยรากแก้ว (tap root) ที่มีความยาวโดยเฉลี่ยตามความลึกของดินประมาณ 2.5 เมตร ในต้นยางอายุ 3 ปี ทำหน้าที่ยึดเกาะพยุงลำต้นไม่ให้โค่นล้มเมื่อลมแรงและมีน้ำท่วม รากแขนง (lateral root) แตกแขนงออกมาจากชั้น pericycle ของรากแก้ว มีความยาวเฉลี่ย 7-10 เมตร เจริญอยู่ในระดับผิวดินบริเวณทรงพุ่ม ทำหน้าที่ดูดยึดน้ำและธาตุอาหารส่งไปยังใบ เพื่อขบวนการสังเคราะห์แสง


2. ลำต้น (Stem)


ลำต้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามชนิดของวัสดุปลูก คือ ลำต้นรูปกรวย (cone) เป็นลำต้นที่เกิดจากการปลูกด้วยเมล็ด (seedling tree) ส่วนฐานของลำต้นจะโตแล้วค่อยเล็กลงตามความสูง ลำต้นอีกชนิดหนึ่งคือ ลำต้นรูปทรงกระบอก (cylinder) เป็นลำต้นที่เกิดจากการปลูกด้วยต้นติดตา (budded stump) ลักษณะของลำต้นส่วนล่างสุดมีขนาดใหญ่มากเรียกว่า "เท้าช้าง" เลยจากจุดนี้ขึ้นไปจะเป็นลำต้นที่มีขนาดเท่ากันทั้งส่วนโคนต้นและส่วนปลาย ในช่วงแรกของการเจริญเติบโตพบว่า ลำต้นทั้งสองชนิดมีเกล็ดใบ (scale leaves) อยู่ตรงส่วนตายอด ทำหน้าที่ห่อหุ้มใบอ่อนไม่ให้ได้รับอันตราย ถัดลงมาก็เป็นกลุ่มของใบซึ่งแตกเป็นฉัตรรอบลำต้น เมื่อลำต้นมีอายุมากขึ้นก็จะมีการแตกกิ่งก้านสาขา ฉัตรใบบริเวณล่าง ๆ จะร่วงหล่นไปกลายเป็นลำต้นเปลือย (bare trunk) ความสูงของลำต้นแตกต่างกันออกไปโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 2-2.5 เมตร ส่วนประกอบของลำต้นที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ในการสกัดน้ำยาง ได้แก่ เปลือก ซึ่งประกอบด้วย

               2.1 เปลือกแห้ง (corky bark) เปลือกที่อยู่ส่วนนอกสุดของลำต้นมีสีน้ำตาลถึงดำ ไม่มีท่อน้ำยางอยู่ภายในเลย โดยทั่วไปเปลือกชั้นนี้มีความหนาประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของเปลือกทั้งหมด

               2.2 เปลือกแข็ง (hard bark) อยู่ถัดจากเปลือกแห้งเข้ามา มีสีส้ม หรือสีน้ำตาลอ่อน

               2.3 เปลือกอ่อน (soft bark) เป็นเปลือกชั้นในสุดถัดจากเปลือกแข็งเข้าไปเกือบใกล้เนื้อไม้ ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม มีชีวิต และหนาของเนื้อเยื่อลำเลียงอาหาร ภายในเป็นแหล่งสะสมอาหารจำนวนมาก เนื้อเยื่อจะติดต่อกันตลอดทั้งในลำต้น กิ่งก้าน และใบ อาหารที่มาสะสม คือน้ำยางนั่นเอง ซึ่งเรียกว่า latex องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำ คอยควบคุมความเข้มข้นของน้ำยางในท่อน้ำยาง และช่วยรักษาความเต่ง สภาพสมดุลของท่อน้ำยางด้วย ชั้นเปลือกอ่อนมีความหนาแน่นของท่อน้ำยางสูง จึงทำให้ขนาดของท่อน้ำยางเล็กกว่าในชั้นเปลือกแข็ง

 3. ใบยางพารา (Leaf)


ใบยางพาราจัดเป็นใบประกอบ (compound leaf) แบบ palmate ในใบประกอบชุดหนึ่งของยางพารามี 3 ใบย่อย ซึ่งเรียกว่า trifoliage leaves ใบย่อยแต่ละใบจะมีก้านใบย่อย (peteolule) ซึ่งมีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5-2.5 ซม. แตกออกตรงส่วนปลายของ peteole ณ จุดเดียวกัน peteole ของใบยางพาราจะมีความยาวโดยเฉลี่ย 15 ซม. (2-70 ซม.) การเรียงตัวของใบในฉัตรเป็นแบบเกลียว (spiral) ใบที่แก่ที่สุดของกลุ่มใบย่อยคือ ใบที่ใหญ่ที่สุดและมี peteolule ยาวกว่า แผ่นใบหรือตัวใบมีขนาดแตกต่างกันออกไป โดยเฉลี่ยแล้วมีความกว้างเป็นครึ่งหนึ่งถึงหนึ่งในสามของความยาวของทั้งใบ

         
4. ดอกยางพารา (Flowers)


เกิดเป็นจำนวนมากจากตาตรงซอกใบ (axillary bud) มีลักษณะเป็นช่อ สั้น ๆ ตรงฐานของกลุ่มใบใหม่ ช่อดอกของยางพาราเป็นแบบ compound raceme หรือ panicle ในช่อดอกหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย แกนใหญ่ของช่อเรียกว่า main axis แล้วมีการแตกแขนงของช่อดอกเป็นแขนงย่อยอีกมากมาย แขนงย่อยแรกที่แตกจาก main axis เรียกว่า primary branch แขนงย่อยที่ 2 แตกจาก primary branch เรียกว่า secondary branch อันเป็นที่ตั้งของก้านชูดอก (peduncle และ pedicel) การแตกแขนงของช่อดอกในลักษณะดังกล่าวจะลดหลั่นกัน มองดูแล้วคล้ายรูปสามเหลี่ยม ในช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอก 2 ชนิดแยกกัน คือ

4.1 ดอกตัวเมีย (pistillated flowers) มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ส่วนปลายสุดของแขน เกสรตัวเมียซึ่งประกอบด้วย รังไข่ 3 พู และยอดเกสรตัวเมียที่ไม่มีก้านชู (sessile stigma) มีลักษณะ 3 แฉก
               4.2 ดอกตัวผู้ (staminated flowers) มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าดอกตัวเมียในแขนงเดียวกันของช่อดอก ในช่อดอกหนึ่ง ๆ จะมีดอกตัวผู้ประมาณ 60-80 ดอก
          หลังจากแทงช่อดอกแล้ว 2 อาทิตย์ ช่อดอกมีการพัฒนาเต็มที่พร้อมที่จะบานโดยดอกตัวผู้จะบานก่อน ช่วงการบาน 1 วันก็จะร่วง ส่วนดอกตัวเมียจะบานในช่วงเวลาถัดมาอาจ บานนาน 3-5 วัน

5. ผล (Fruit)


ดอกตัวเมียที่สามารถผสมติดให้ผลมีเพียง 30-50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนดอกที่ผสมไม่ติดจะร่วงหล่นไป หลังจากผสมแล้ว รังไข่จะพัฒนามาเป็นผลภายในเวลา 3 เดือน และต่อมาอีก 3 เดือน ผลก็จะสุก ผลที่แก่มีขนาดใหญ่ แน่น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซม. ประกอบด้วย 3 พู แต่ละพูจะบรรจุ 1 เมล็ด ส่วนประกอบของผลมีเปลือกผล (epicarp) และผลชั้นกลาง (mesocarp) บางนิ่ม ส่วนผลชั้นใน (endocarp) แข็งหนา เมื่อผลสุก ผลชั้นในจะแตกออกเป็น 6 ส่วนแล้ว เมล็ดจะถูกดีดออกไปได้ไกลเป็นระยะทางถึง 15 หลา ผลอ่อนมีสีเขียวผลแก่มีสีน้ำตาลและแข็ง

6. เมล็ด (Seed)


เมล็ดมีขนาดใหญ่ รูปร่างกลมถึงรีแล้วแต่พันธุ์ เมล็ดแน่น เป็นมัน มีขนาด 2-3.5 x 1.5-3 ซม. หนักประมาณ 3.6 กรัม เปลือกของเมล็ด (seed coat) แข็ง มีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา มีจุดน้ำตาลเข้ม ประปราย ด้านท้องของเมล็ดตรงปลายสุดด้านหนึ่งจะเป็นที่ตั้งของขั้วเมล็ด (hilum) และ micropyle ซึ่งเป็นทางงอกของรากอ่อน ถัดมาเป็นรอยที่ funiculus อ้อมมาติดกับเมล็ดตรงขั้วเรียกว่า raphe รูปร่างของเมล็ดขึ้นอยู่กับการกดของผลซึ่งมีเมล็ดบรรจุอยู่ภายใน ภายในเมล็ดมีอาหารสะสมเป็นพวกไขและมันสีขาวเมื่อมีชีวิตอยู่ และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเมล็ดแก่ ส่วนของอาหารสะสมสามารถนำมาสกัดน้ำมันใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ กากที่เหลือนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ย ชั้นของอาหารสะสมดังกล่าวล้อมรอบแกนต้นอ่อนซึ่งประกอบด้วยยอดอ่อน รากอ่อน และใบเลี้ยง เมื่อได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะงอกเป็นต้นใหม่ได้ เมล็ดยางเมื่อหล่นใหม่ๆจะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงมาก แต่ เปอร์เซ็นต์ความ งอกนั้นจะลดลงอย่าง รวดเร็วในสภาพปกติเมล็ดยางจะรักษาความงอกไว้ได้ประมาณ 20 วันเท่านั้น

7. น้ำยาง (rubber latex)


น้ำยาง เป็นของเหลวสีขาวถึงขาวปนเหลืองขุ่นข้น อยู่ในท่อน้ำยางซึ่งเรียงตัวกันอยู่ในเปลือกของต้นยาง ในน้ำยางจะ มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ 2 ส่วนคือส่วนที่เป็น "เนื้อยาง" และส่วนที่ "ไม่ใช่ยาง" ตามปกติในน้ำยาง จะมีเนื้อยางแห้ง ประมาณ 25-45เปอร์เซ็นต์
** (ข้อมูลจาก พืชไร่เศรษฐกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร http://www.goa.go.th/

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(6) การเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาจากในอดีต

พลวัตวัฒนธรรมชาวสวนยางพารา : ศึกษากรณีตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของชาวสวนยางพาราในด้านครัวเรือนและชุมชน ด้านการเกษตรและการทำสวนยางพารา และด้านความเป็นอยู่ ของชาวสวนยางพารา โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนปี 2515 และช่วงปี 2515 ถึงปัจจุบัน


ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2515 เป็นช่วงของการดำรงชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ เนื่องจากระบบนิเวศน์ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะครัวเรือนขนาดใหญ่นิยมการมีบุตรมาก ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สำหรับบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบจะแบ่งตามเพศอย่างชัดเจน ภายหลังปี พ.ศ. 2515 มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งชาวสวนยางจะต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ดังนี้

          - ด้านภูปัญญา  เนื่องมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์ยางพารามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ธุรกิจยางพาราจำเป็นต้องขยายตัว แต่ในขณะที่ราคาน้ำยางสด หรือยางแผ่นกลับลดลง ทำให้เกษตรกรขาดทุน ไม่สามารถทำต่อไปได้ บางรายยอมขายสวนยางให้แก่โรงงานใหญ่ๆ ที่มากว้านซื้อสวนยาง เนื่องจากทราบโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้ผลิตสินค้าได้มากตามที่ตลาดต้องการ ยิ่งชาวสวนเลิกประกอบอาชีพทำสวนยางมากขึ้นเท่าไหร่ การถ่ายทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมก็จะหายไป เยาวชนรุ่นใหม่จะไม่เข้าใจรากเหง้าเศรษฐกิจพอเพียงพื้นบ้านที่เคยสืบทอดต่อๆ กันมา น้ำใจไมตรีที่เคยช่วยเหลือกัน ความรักความสามัคคีในชุมชนก็จะค่อยๆ เลือนหายไปด้วยเช่นกัน

           - ด้านการประกอบอาชีพ  จากการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นการทำนาในที่ราบหรือที่ลุ่ม มีการทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่ดอนหรือที่สูง นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัวควาย เพื่อใช้แรงงาน พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การผลิตทางการเกษตรในช่วงนี้นิยมทำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักโดยเฉพาะการทำนา การหาของป่า ต่อมาในช่วงหลังพื้นที่ที่เคยทำไร่เลื่อนลอยถูกเปลี่ยนมาปลูกยางพารา การปลูกยางพาราในช่วงแรกนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองหรือที่เรียกว่า “ยางน้ำ” ซึ่งทำการปลูกกันด้วยเมล็ดแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ หลังจากนั้นเมื่อต้นโตได้ขนาดจึงทำการกรีดเพื่อทำเป็นก้อนยางออกจำหน่าย การปรับตัวเข้าสู่ระบบการเกษตรยุคใหม่ ยางพาราเข้ามามีบทบาทมากต่อชีวิตผู้คนในชุมชน ชาวบ้านเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกยางพารา ละทิ้งการทำนาและพื้นที่นาบางแห่งถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา การปลูกยางพาราถูกเปลี่ยนจากการปลูกด้วยเมล็ดเป็นการใช้ต้นกล้าที่ผ่านการติดตาและพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกคือพันธุ์ RRIM 600 และ BPM 24 แทนยางพันธุ์พื้นเมือง ตลอดจนมีการบำรุงรักษาใส่ปุ๋ยเคมี กำจัดวัชพืช และนำเครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วยทำให้ในปัจจุบันการลงทุนค่อนข้างสูง การจำหน่ายยางพาราส่วนใหญ่จะจำน่ายในรูปของยางแผ่น

          - ด้านรายได้  เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ความต้องการแรงงานสูงขึ้นไปด้วย แต่การจ่ายค่าแรงให้กับคนไทยจะต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมหันไปนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานแทนคนไทย เช่น พม่า หรือมอญ เพราะค่าแรงถูกกว่ามาก ยิ่งส่งผลกระทบทำให้คนไทยจำนวนมากไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ส่งผลกระทบไปถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่องกัน

แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟู และพัฒนาผลิตภัณพ์จากยางพารา  
          1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราอย่างเป็นระบบ เช่น จัดทำเอกสาร คู่มือ หลักการ และกระบวนการผลิต เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาและใช้ในการพัฒนา โดยบูรณาการร่วมกับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ชุมชนต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การวิจัยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม
         
          2. การอนุรักษ์ อาชีพการทำสวนยางพาราในปัจจุบัน คงเหลือเพียงผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน ถึงสูงอายุ ซึ่งไม่ให้การสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่ก้าวหน้าหรือไม่มีอนาคต และไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเท่าที่ควร ฉะนั้น แนวทางการอนุรักษ์จะต้องให้การสนับสนุนให้อาชีพนี้มีความมั่นคง ปลุกจิตสำนึกของคนในท้องถิ่นให้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิปัญญาต่อไป

          3. การฟื้นฟู ให้การศึกษา อบรม ให้มีการทดลอง ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งสนับสนุนทั้งในส่วนของเงินลงทุน เช่น จัดสถาบันการเงินให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรอาศัยอยู่ได้ จัดพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกยางพารา เพื่อให้ชาวสวนมีกำลังใจในการสืบทอดรักษาการปลูกยางพาราต่อไป

          4. การพัฒนา ปัจจุบันมีการวิจัย ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำส่วนประกอบต่างๆ ของยางพารามาประดิษฐ์ ให้มีความแปลกใหม่และหลากหลายมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาอย่างเป็นระบบ ลดค่าใช้จ่าย ทำให้การผลิตง่ายขึ้น เช่น การนำส่วนประกอบต่างๆ ของต้นยางพารามาเพิ่มมูลค่า เช่น การนำน้ำมันในเมล็ดยาง พารามาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล หรือนำน้ำยางมาผลิตเป็นครีมหน้าขาว เป็นต้น เหล่านี้เป็นการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน

          5. การถ่ายทอด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
               - การถ่ายทอดจากข้าราชการ เช่นกระทรวงเกษตร ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยการจัดอบรม ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
               - การถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานได้มีวิชาชีพในการทำมาหากิน การเรียนรู้จนเกิดความชำนาญ จะทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่ หลากหลาย สวยงาม ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

          6. การส่งเสริมกิจกรรมและการเผยแพร่แลกเปลี่ยน เช่น การไปศึกษาดูงานจากชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์และแนวคิดที่แตกต่าง สามารถนำมาปรับใช้ในชุมชนของตนเองต่อไป

          7. การยกย่องและเสริมสร้างปราชญ์ด้านภูมิปัญญาและหัตถกรรมจากยางพารา โดยการสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ และสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีการยกย่องและประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดความภาคภูมิใจ เป็นกำลังใจการดำเนินงานด้านภูมิปัญญา และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ด้วยความเต็มใจ

          การเปลี่ยนแปลงของภูมิปัญญาในอดีต จากการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อครอบครัว และคนในและนอกชุมชน ต่อมา มีการเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตชาวสวนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งในด้านภูมิปัญญา และการประกอบอาชีพดั้งเดิม

ปัญหาและอุปสรรคของชาวสวนยางพาราในปัจจุบัน ได้แก่
          1. ปัญหาราคายางที่ไม่แน่นอน คุณภาพยางไม่เหมาะสมกับราคายาง เกษตรกรขาดทุน
          2. ปัญหาราคาวัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร มีราคาสูงขึ้น
          3. ปัญหาโรคและแมลงศัตรูยางพารา ทำให้เกษตรต้องซื้อหาปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง
          4. ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น ฝนตกติดต่อกันยาวนาน
          5. ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง
         
ข้อเสนอแนะ
          1. ส่งเสริมให้ประชาชน และเยาวชนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา สร้างความเข้าใจให้เห็นคุณค่าของต้นยางพารา ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน
          2. อบรมให้ความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มคุณภาพน้ำยางสดและยางแผ่น รวมถึงให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยชีวภาพ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
          3. อบรมให้ความรู้ในเรื่องการตลาด การจัดหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้รู้เท่าทันพ่อค้าคนกลาง และให้ช่วยเหลือเกษตรกรหากราคายางตกต่ำ
          4. สนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมในรูปแบบกลุ่มของชาวสวนยางพารา เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยั่งยืน ส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
          5. สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีระหว่างชุมชน เพื่อจะได้เปิดโลกทัศน์ นำมาประยุกต์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น
          6. ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เช่น ให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด หรือให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

แนวทางการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต  แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ
          - ด้านการผลิต ได้แก่ การพัฒนาสายพันธุ์ยางพารา พัฒนาวิธีการปลูกและการดูแลยางพารา ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ปลูกยางพารา โดยมีองค์กรให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับราคา ทำวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือสร้างสินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตจากยางพารา
         
          - ด้านการตลาด รัฐควรมีการพัฒนาตลาดซื้อขายยางพาราของไทย ให้เป็นตลาดกลางในภูมิภาค ส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตร ใช้ประโยชน์จากการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ส่งเสริมการนำน้ำยางไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงเร่งหาตลาดใหม่เพื่อรองรับผลผลิตที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคต     ** (ข้อมูลจากเวปไซด์ www.fpo.go.th สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)

(5) การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ยางพารา

          การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นี้ นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านประโยชน์ใช้สอย ซึ่งส่วนประกอบของต้นยางพาราแต่ละส่วนนั้น มีคุณอเนกอนันต์ สามารถนำมาใช้ผลิตสินค้าต่างๆ ได้หลากหลาย ล้วนแล้วแต่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติทั้งสิ้น ในอดีต ยางพาราจะมีบทบาทสำคัญในแง่คุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นและนำออกจำหน่าย ได้แก่ น้ำยางพารา ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ชิ้นใหญ่ เช่น ล้อรถยนต์ ล้อรถเครื่องบิน สายพานต่าง ๆ ยางรองพื้น ยางกันกระแทก และผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ เช่นลูกกอล์ฟ พื้นรองเท้า พลาสเตอร์ยา ฯลฯ
          ปัจจุบัน มีการวิจัย คิดค้นการสร้างสรรค์นำส่วนประกอบต่างๆ ของต้นยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์ มากกว่าการใช้เพียงแค่น้ำยางมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ดังที่กล่าวมาเช่น

ลำต้น  :   
                                                       
                                                
          จากการรณรงค์มิให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ผู้คนหันมาสนใจนำต้นยางนานาชนิดที่มีอายุมาก หรือไม่สามารถผลิตน้ำยางได้แล้ว มาคิดค้นประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการของตลาดทั่วโลก เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีคุณภาพทางกายภาพใกล้เคียงกับไม้นัก จนได้รับการขนานนามว่า "ไม้สักขาว White Teak" เป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงาม น้ำหนักเบา ย้อมสีได้ ที่สำคัญราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่นๆ สินค้าที่ผลิตจากไม้ยางพาราและได้รับการยอมรับ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแกะสลัก ไม้แปรรูป ของเล่นประเทืองปัญญา ฯลฯ การรณรงค์ให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินั้น นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คน และสัตว์แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตหรือชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้
            
ใบยาง                                              
                                                 

                                                 

          สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 7 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการวิจัยใบยางพารา พบว่า ใบยางนี้ มีความเหนียวคงทนกว่าใบไม้ชนิดอื่นๆ มีคุณสมบัติยืดหยุ่นคืนรูปได้ง่าย เมื่อเราทดลองขยี้ดอกไม้ประดิษฐ์ยางพาราจนเหี่ยวยับย่น เมื่อทดลองฉีดน้ำลงไป ดอกจะคลายตัวคืนรูป จะสังเกตได้ว่าดอกจะมีสีสดใสมากขึ้น จึงได้มีการนำใบยางพารา มาสร้างสรรค์เป็นงานหัตถกรรม และได้ถ่ายทอดให้แก่กลุ่มแม่บ้าน หรือผู้สนใจต่างๆ เช่น การนำใบยางมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ หรือแมลงนานาชนิดได้อย่างสวยงาม ลักษณะของใบยางที่นำมาใช้เป็นโครงร่าง จะลอกเนื้อเยื่อที่ใบออกจนหมด ฟอกใบให้ขาวและย้อมสีตามความต้องการ และนำไปจำหน่าย เหมาะเป็นของตกแต่งที่อยู่อาศัยและสำนักงาน ทนทาน ไม่ต้องทะนุถนอมมากนัก เพียงฉีดละอองน้ำสีก็จะกลับมาสดใสเหมือนเดิม                     
        
เมล็ด  : 
                                                

          นับเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงเห็นประโยชน์ของพลังงานทดแทนจากพืช พระองค์ทรงริเริ่มให้มีการวิจัยทดลอง ผลิตและใช้พลังงานทดแทนจากพืช ทั้งเอทานอลที่ใช้ผสมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วโดยนำมาจากห้องเครื่องในวัง นำมาผลิตในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มานานกว่า 20 ปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของน้ำมันจากพืช ไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง และขยายผลไปสู่ภาคชนบท โดยในปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง มีพระราชดำริให้ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ณ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กมีกำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ณ ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ต่อมาในปี 2543 กองงานส่วนพระองค์ได้ทำวิจัยพัฒนา และทดลองนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์หรือปาล์มดีเซล มาทดลองใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ ที่พระราชวังไกลกังวล จากความสำเร็จดังกล่าว ใน วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ยื่น จดสิทธิบัตร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อ ที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือ “การใช้ น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ เป็นน้ำมัน เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” สิทธิบัตรเลขที่ 10764  นับจากนั้นต่อมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ร่วมมือกันพัฒนาหน่วยผลิตต้นแบบในหลาย ๆ โครงการอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์

          สถาบันวิทยาศาสตร์ และเทค โนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้สนองแนวพระราชดำริ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ให้ดำเนินงาน “โครงการศึกษาออกแบบการจัดตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลนำร่องระดับชุมชน”

          ปัจจุบันได้พัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง จนได้ไบโอดีเซลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีกำลังการผลิต 150 ลิตรต่อวัน อีกทั้งสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก และสามารถใช้เป็นฐานสำหรับการออกแบบโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาดกำลังการผลิตระดับโรงงาน บริษัท บางจากฯ จึงได้ขยายผลการผลิตไบโอดีเซล เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลสูงถึงวันละ 50 ล้านลิตร โดยร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ก่อสร้างหน่วยผลิตไบโอดีเซลในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งใช้น้ำมันพืชที่ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ มีกำลังการผลิต 20,000 ลิตรต่อวัน ในปีหน้า คนไทยจะได้ใช้ไบโอดีเซลทั่วถึงทุกปั๊มน้ำมัน ล่าสุด รมว. พลังงาน ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งออกมาตรการบังคับให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันทุกแห่งจะต้องจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B 2 (ดีเซล 98% ไบโอดีเซล 2%) แทนการจำหน่ายน้ำมันดีเซลในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2551 โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งรัดแผนพลังงานทดแทน และสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นให้ประเทศไทยหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล

เปลือกผลยางพารา  :  จากการศึกษาพบว่า เปลือกผลยางพาราจะให้ถ่าน ร้อยละ 26.18 ของน้ำหนักเปลือกผลยางพารา ใช้เวลาการเผาไหม้จนหมดน้อยที่สุด 32.33 นาที น้ำหนักขี้เถ้า ร้อยละ 3 สามารถดูดซับไอโอดีนได้ 0.93 มิลลิกรัม

น้ำยางพารา  :  สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลาย และเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก มีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมานานหลายร้อยปี ปัจจุบัน รัฐบาลได้มีการจัดตั้งโรงงานที่รับซื้อน้ำยางจากเกษตรกร และนำมาแปรรูปตามชนิดของยาง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้
         ยางแท่ง STR 20  สามารถนำไปผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้ 
             - ล้อรถยนต์, สายพานต่าง ๆ, ยางรองพื้น, ยางรองคอสะพาน, ยางกันกระแทก ฯลฯ
         ยางแท่ง STR 5L  สามาถนำไปผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
             - ล้อเครื่องบิน, ล้อยางเรเดียมทุกชนิด, พื้นรองเท้า, ยางรัดของ, ลูกกอล์ฟ ฯลฯ
          ยางเครป  ามารถนำไปผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ดังนิ้
             - กาว, พื้นรองเท้า, จุกขวด, พลาสเตอร์ยา, ผ้าก๊อต ฯลฯ
          น้ำยางข้น  สามารถผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
             - ถุงมือ, ลูกโป่ง, ถุงยางอนามัย, ที่นอนฟองน้ำ, เครื่องมือทางการแพทย์ ฯลฯ

ภาพตัวอย่างบางส่วนจากผลิตภัณฑ์น้ำยางพารา













** นวัตกรรมล่าสุด จากการวิจัยพบว่า ในน้ำยางพารามีสารที่สามารถนำไปทำเครื่องสำอางเพื่อรักษาผิวพรรณให้ขาวใส เนียน และเต่งตึงขึ้น และได้ทำการยื่นจดสิทธิบัตรภูมิความรู้ของคนไทยเรียบร้อยแล้ว



** (ข้อมูลครีมหน้าขาวจาก รศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ผู้ประดิษฐ์ครีมเสริมสุขภาพผิวจากยางพารา)

(4) กระบวนการผลิตน้ำยาง และยางแผ่น

          การปลูกต้นยางพาราเพื่อให้ได้น้ำยาง จะต้องใช้เวลาประมาณ 6 – 9 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา เมื่อต้นยางโตเต็มที่พร้อมที่จะกรีดน้ำยางได้ ผู้กรีดจะต้องมีความชำนาญ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดบาดแผลหรือเป็นอันตรายต่อเยื่อเจริญ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความสามารถของต้นยางในการสร้างเปลือกงอกใหม่ และสามารถกรีดเปลือกงอกใหม่ได้อีกครั้ง ต้นยางสามารถให้น้ำยางได้นานกว่า 15 ปี การกรีดยางที่ถูกวิธี เจ้าของสวนยางจะได้รับผลผลิตยางเพิ่มขึ้น และต้นยางไม่เสียหาย การกรีดยางจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ขนาดของต้นยาง ความลาดชันของรอยกรีด ความลึกของการกรีด ความสิ้นเปลืองเปลือก เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสวนยางอย่างเต็มที่และคุ้มค่า
** (ข้อมูลการกรีดยาง จากหนังสือคัมภีร์ยางพารา โดย ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์)

กระบวนการทำยางแผ่นรมควัน (โดยนายรัตน เพชรจันทร์)
          เจ้าของสวนยางในประเทศไทยเกือบทุกสวนยังคงทำยางแบบเก่า คือยางแผ่นรมควันและ คงจะต้องทำเช่นนี้ต่อไปรอจนกว่ารัฐหรือเอกชนจะสร้างโรงงานผลิตยางแท่งทั่วทุกท้องที่ที่มีการปลูกยาง ความสำคัญของการทำยางทุกชนิด ขึ้นอยู่กับความสะอาดเป็นสำคัญ ถ้าสะอาดมากก็ถือว่าเป็นยางชั้นดีมาก และขายได้ราคาสูง ฉะนั้น ในการทำยางแต่ละขั้น จะต้องระมัดระวังความสะอาด ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึง วิธีทำยางแผ่นรมควันเป็นขั้น ๆ นับตั้งแต่ได้น้ำยางมาจากสวน ดังนี้

วัสดุและอุปกรณ์ ประกอบด้วย :
               1. กะบะทรงสูง เพื่อใส่น้ำยางที่ได้มาจากต้น
               2. ตะแกรงลวด เพื่อกรองเอาผงหยาบออกจากน้ำยาง
               3. ตะกงอลูมิเนียม หรือสังกะสี ใส่น้ำยางที่กรองและผสมแล้ว ขนาดกว้างยาวสูงประมาณ 45 x 26 x 7 เซนติเมตร บรรจุน้ำยางได้ประมาณ 6 - 7 ลิตร ทำยางได้หนักแผ่นละ 700 – 800 กรัม ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ จะใช้ตะกงขนาดใหญ่ มีแผ่นกั้นเป็นช่องๆ ซึ่งเรียกว่า ตะกงตับ ทำยางได้ตะกงละ 150 แผ่น
               4. กรดฟอร์มิก กรดน้ำส้มหรือกรดอะเซติก สำหรับผสมกับน้ำยางเพื่อให้ยางแข็งตัว
               5. เครื่องรีดสำหรับรีดน้ำ และทำให้ยางบางลง
               6. ราวไม้ไผ่สำหรับตากแผ่นยางให้แห้ง

ขั้นตอนการผลิต


 ขั้นที่ 1  :  น้ำยางที่ได้มาจากสวนจะต้องกรองให้สะอาด การกรองครั้งแรกให้กรองด้วยตะแกรงลวด ที่ไม่เป็นสนิมหรือทองเหลือง ขนาด 40 รู เพื่อกรองเอาผงหยาบๆ ออก เช่นเศษเปลือกผงจากใบไม้หรือดินทราย ฯลฯ เมื่อกรองผงหยาบออกแล้ว เติมน้ำประมาณ ๑ เท่า เพื่อให้น้ำยางใส ควรใช้เครื่องวัดความเข้มข้นของน้ำยาง ให้น้ำยางสม่ำเสมอกัน มีเนื้อยางเท่าๆ กัน แผ่นยางบางและมีน้ำหนักเท่ากัน เมื่อนำเข้ารมในโรงรมควันจะได้สุกพร้อมกัน เมื่อเติมน้ำจนมีความเข้มข้นตามต้องการแล้ว โดยปกติจะเติมให้มีเนื้อยางผสมอยู่ในน้ำเพียงร้อยละ 15 (น้ำยางที่ได้มาจากต้นมีเนื้อยางแห้งประมาณร้อยละ 30 – 35 ของน้ำยางทั้งหมด) แล้วจึงกรองด้วยตะแกรงกรองชนิดละเอียดขนาด ๖๐ รู เทรวมลงไปในถังรวมน้ำยาง เพื่อให้น้ำยางทุกต้นผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าเป็นสวนยางขนาดใหญ่ จะมีถังอะลูมิเนียมรวมน้ำยางขนาดจุ 3,000 – 4,000 ลิตร ปล่อยให้น้ำยางตกตะกอนประมาณ 20 - 30 นาที แล้วจึงเอาน้ำยางตอนบนๆ ไปใช้ทำแผ่นยางต่อไป ส่วนน้ำยางตอนล่างซึ่งมีเป็นจำนวนน้อยมาก อาจจะมีผงเล็กๆ ตกตะกอนอยู่บ้าง จะแยกเอาไปใช้ทำเป็นยางแผ่นชั้นต่ำ เพราะเป็นยางที่มีความสะอาดน้อยกว่า



ขั้นที่ 2  :  การนำน้ำยางที่กรองสะอาดแล้วใส่ตะกง  ถ้าเป็นสวนขนาดเล็ก จะนำน้ำยางที่กรอง และผสมน้ำแล้ว ตวงใส่ตะกงเดี่ยว ซึ่งทำด้วยอะลูมิเนียม หรือสังกะสี ขนาดกว้างยาวสูงประมาณ 45 x 26 x 7 ซม. บรรจุน้ำยางได้ประมาณ 6 - 7 ลิตร ทำยางได้หนักแผ่นละ 700 – 800 กรัม ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ จะใช้ตะกงขนาดใหญ่ มีแผ่นกั้นเป็นช่องๆ ซึ่งเรียกว่า ตะกงตับ ทำยางได้ตะกงละ 150 แผ่น

         


ขั้นที่ 3  :  การผสมกรดฟอร์มิคตามอัตราที่กำหนดเพื่อให้น้ำยางแข็งตัว  การทำให้ยางจับตัวเป็นก้อน โดยค่อย ๆ ผสมน้ำกรดฟอร์มิกกับน้ำให้เจือจางเพียง 1- 2% เทลงไปในน้ำยางตามอัตราส่วน ถ้าจะให้ยางแข็งตัวจับเป็นก้อนในวันรุ่งขึ้น จะใช้กรดเพียง 4 ซีซี / เนื้อยางแห้ง ๑,๐๐๐ กรัมหรือ ๑ กิโลกรัม ถ้าจะให้ยางแข็งตัวภายใน ๑-๒ ชั่วโมง ก็ให้ใช้กรดฟอร์มิกมากขึ้น เป็น ๘-๑๐ ซีซี / ยางแห้ง ๑,๐๐๐ กรัม ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้กรดฟอร์มิกประมาณ ๑% ของน้ำหนักเนื้อยางแห้ง การใส่กรดลงไปในน้ำยางต้องค่อย ๆ ใส่ลงไปทีละน้อย แล้วรีบคนให้ทั่ว เพื่อไม่ให้น้ำยางตรงที่ถูกกรดจับตัวเป็นก้อนในทันทีทันใด เมื่อใส่น้ำกรดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตักฟองออก ระวังไม่ให้สิ่งสกปรกหรือฝุ่นตกลงไป
           น้ำกรดที่ทำให้ยางจับตัวเป็นก้อน มิใช่มีแต่กรดฟอร์มิกแต่อย่างเดียว กรดน้ำส้มหรือกรดอะเซติกก็ใช้ได้ดี ถ้าใช้กรดน้ำส้มจะต้องใช้เพิ่มขึ้นประมาณเกือบเท่าตัวของกรดฟอร์มิก กรดกำมะถันก็ใช้ได้และราคาก็ถูกกว่า แต่การใช้ค่อนข้างยาก ต้องใช้การคำนวณให้แน่นอน ถ้าใช้มากไปน้อยไปทำให้ยางเสียได้ง่าย ขณะนี้ปรากฏว่า ยางเสียหายมาก ทั้งนี้เพราะน้ำกรดที่ขายในตลาดไม่ทราบว่ากรดอะไรแน่นอน จึงไม่แนะนำให้ใช้กรดกำมะถันและกรดชนิดอื่นๆ



ขั้นที่ 4  :  การนวดไล่น้ำออก เพื่อเตรียมเข้าเครื่องรีดทำเป็นแผ่น  เมื่อยางในตะกงจับตัวเป็นก้อนดีแล้ว ตัวก้อนยางจะจับตัวเป็นแผ่นลอยอยู่เหนือน้ำ และน้ำที่อยู่รอบ ๆ ยางจะใส (ถ้าน้ำขุ่นอยู่แสดงว่า ยังจับตัวกันไม่เรียบร้อย)  ให้เอาน้ำสะอาดราดลงบนยางเพื่อไล่ฝุ่นละอองออก แล้วนำตะกงยางคว่ำลงบนโต๊ะที่ล้างสะอาดดีแล้วมาทีละแผ่น ใช้ไม้ลูกกลิ้งหรือขวดเบียร์ค่อย ๆ กลิ้งและกดให้แบนจนตลอดแผ่น เพื่อไล่น้ำออกตรงปลายที่จะนำเข้าเครื่อง (ทางด้านกว้าง) ทำให้แบนมาก ๆ จะได้ส่งเข้าเครื่องรีดได้สะดวก
          เครื่องรีดยางหรือเครื่องทำแผ่นยางที่กล่าวนี้ คล้าย ๆ กับเครื่องรีดปลาหมึก แต่ใหญ่กว่ามากใช้มือหมุน มีลูกกลิ้ง 1 คู่ ยาวประมาณ 50 – 60 เซนติเมตร (20 - 24 นิ้ว) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซน ติเมตร (4 นิ้ว) มีที่ขันให้ลูกกลิ้งทั้งสองเบียดกันหรือห่างกันได้ เครื่องรีดยางชุดหนึ่งอย่างน้อยจะต้องมี 2 เครื่อง คือ เครื่องรีดเกลี้ยง ๑ เครื่อง และเครื่องรีดดอกอีก 1 เครื่อง ที่ลูกกลิ้งทั้ง 2 อันของเครื่องรีดดอกนั้น มีร่องเป็นเกลียวรอบตัวและเต็มลูกกลิ้ง แต่ละร่องมีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร วนเอียงประมาณ 45 องศา ขนานกันทุกร่อง จากปลายข้างหนึ่งไปยังปลายอีกข้างหนึ่ง
          ยางที่แข็งตัวและนวดให้ส่วนน้ำออกไปบ้างแล้ว จะนำเข้าเครื่องรีดเกลี้ยง 2 - 3 ครั้ง จนแผ่นยางบางประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร จึงนำเข้าเครื่องรีดดอก ยางแผ่นจะปรากฏเป็นร่องเล็ก ๆ เฉียงพาดไปทั่วแผ่น ทั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดเนื้อที่มากขึ้นกว่าแผ่นเลี่ยน ๆ ซึ่งจะสามารถรับความร้อนและควันได้มาก จนทำให้ยางสุกทั่วแผ่นเร็วขึ้น
          ส่วนสวนยางขนาดใหญ่ จะไม่ใช้เครื่องรีดด้วยมือ ดังกล่าวนี้ เพราะทำได้ช้า จะใช้เครื่องรีดยางอัตโนมัติ เครื่องรีดยางชนิดนี้จะมีลูกกลิ้ง 4 - 5 คู่เรียงเกือบชิดกัน คู่สุดท้ายจะเป็นลูกกลิ้งดอก เครื่องหนึ่งจะทำยางแผ่นได้ชั่วโมงละ 700 - 800 แผ่นขึ้นไป
          ยางที่รีดเป็นแผ่นเสร็จแล้ว จะนำไปแช่น้ำ อาจจะเป็นในอ่างใหญ่หรือบ่อซีเมนต์ที่มีน้ำไหลผ่านเข้าและออกได้ตลอดเวลา เพื่อไล่น้ำกรดและสิ่งสกปรก หรือ คราบน้ำมันของเครื่องรีดดอกให้หมด แช่ไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง



ขั้นที่ 5  :  การนำยางมาผึ่งบนราว ภายหลังจากรีดเป็นแผ่น และแช่น้ำล้างจนสะอาด  เมื่อแช่ยางล้างน้ำกรดออกเสร็จแล้ว นำยางไปผึ่งบนราวไม้ไผ่หรือลวดเพื่อให้แห้ง เมื่อแห้งหรือน้ำหยุดหยดจากยางแล้ว นำเข้ารมในโรงรมต่อไป ในทางปฏิบัติ เจ้าของสวนยางขนาดเล็กมักจะขายยางแผ่นที่แห้งแล้วให้ผู้ค้ายาง หรือผู้ส่งยางออกนอกประเทศ ซึ่งผู้ค้ายางหรือผู้ส่งยางออกจะนำยางที่ซื้อไปรมควัน ยางแผ่นที่ไม่รมจะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ได้เพราะไม่มีผู้ซื้อยางชนิดนี้
          ส่วนสวนยางขนาดใหญ่ จะมีรถรมยางเดินบนรางเหล็กมารับยางที่แช่น้ำแล้ว เอาไปผึ่งบนราวไม้บนรถรมยาง รถรมยางดังกล่าวนี้ มีขนาดกว้างยาวสูงประมาณ 215 x 275 x 310 เซนติเมตร พาดยางได้คันละประมาณ 400 – 600 แผ่น ในการรมจะนำเข้ารมทั้งรถทั้งยาง นับว่าสะดวกดีมาก
          โรงรมยาง จากขนาดของสวนยาง โรงรมยางจึงมีหลายแบบ คือ แบบจิ๋ว รมได้ครั้งละประมาณ 100 - 150 แผ่น โรงรมแบบ 2 ชั้น มีหลายขนาด รมได้ตั้งแต่ 1,000 – 30,000 แผ่น แต่โรงรมเหล่านี้ ต้องใช้แรงงานคนเอายางเข้าไปในโรงรม โดยพาดไว้บนราวไม้ให้เป็นระเบียบ เมื่อรมสุกแล้ว ต้องเข้าไปลำเลียงเอาออกมา
          ส่วนสวนยางขนาดใหญ่จะใช้รถรมยางเข้าช่วย เมื่อต้องใช้รถรมยาง โรงรมยางก็ต้องทำให้เหมาะกับรถรมยางที่ต้องเดินบนรางเหล็ก โรงรมยางสำหรับรถรมยางจึงมี 2 แบบ คือ แบบห้องแถว และ แบบอุโมงค์ สำหรับแบบห้องแถว รถรมยางจะถูกนำเข้ารมเป็นห้อง ๆ มีความร้อนและควันแยกเข้าเป็นห้อง ๆ ไป ส่วนแบบอุโมงค์นั้นเป็นเหมือนอุโมงค์รถไฟ คือ เข้าทางเดียว  เมื่อเข้าไปแล้วจะถอยกลับทางเก่าไม่ได้ ต้องออกอีกทางหนึ่ง

ความสำคัญของโรงรมยางที่ดีนั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้
               (1) กระจายความร้อนได้สม่ำเสมอเท่ากันทั่วห้อง เว้นแต่แบบอุโมงค์ความร้อนตรงตอนที่จะออกจะสูงกว่าตรงตอนแรกที่เข้าไป
               (2) มีการควบคุมอุณหภูมิได้ดี
               (3) การระบายอากาศดี
               (4) มีการป้องกันไฟไหม้ไว้เป็นอย่างดี
               (5) น้ำที่หยดจากยางมีทางไหลออกได้เร็วดี
               (6) ควัน และความร้อนไม่รั่วไหลออกได้

ขั้นที่ 6  :  การทำห่อยาง เมื่อได้คัดเลือกยางเป็นชั้น ๆ ดีแล้ว จะต้องห่อยางให้เป็นไปตามข้อบังคับสากล ซึ่งสมาคมผู้ค้ายางของประเทศต่าง ๆ ได้ตกลงกันไว้ คือ จะต้องใช้ยางที่มีคุณภาพชั้นเดียวกันห่อยาง ยางห่อหนึ่งจะต้องอัดให้แน่น ให้มีน้ำหนักตั้งแต่ 224 - 250 ปอนด์ (10 ห่อจะเท่ากับน้ำหนัก 1 ตัน) ไม่ต้องมีลวดรัด ห่อหนึ่งจะมีปริมาตรประมาณ 5 ลูกบาศก์ฟุต ฉะนั้น การห่อยางจะต้องห่อให้กว้าง ยาว สูงประมาณ 20 x 24 x 18 นิ้ว การทำห่อโดยวิธีอื่น เรือเดินทะเลจะไม่รับขนส่งให้
          ยางทุกห่อจะต้องทาด้วยแป้งสีขาว ตามสูตรการผสมแป้งของข้อบังคับสากล ทั้งนี้เพื่อมิให้ห่อยางติดกัน และจะต้องเขียนบอกชั้นของยางไว้ 2 ด้าน โดยใช้ตัวอักษรใหญ่ขนาด 8 นิ้ว ชื่อของบริษัทผู้ส่งยางออก จะต้องเขียนให้เห็น 2 ด้านช่นกัน โดยใช้ตัวอักษรขนาด 5 นิ้ว ถ้าจะมีเลขบอกครั้งที่หรือจำนวนก็ให้เขียนไว้ใต้ชื่อของบริษัทผู้ส่งยางออกโดยใช้เขียนด้วย 5 นิ้ว
** (ข้อมูลกระบวนการทำยางแผ่นรมควัน โดยนายรัตน์ เพชรจันทร)

(3) ยางพาราช่วยลดโลกร้อนอย่างไร

  ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งการที่มนุษย์เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า การตัดไม้ทำลายป่า และสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวคอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ที่เราเรียกกันว่าภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันเราจะเห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนเแปลงของสภาวะอากาศที่ผิดปกติ เช่น ภูเขาน้ำแข็งในขั้วโลกละลายมากขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส น้ำในทะเลสะสมความร้อนจนมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติ (โลกเหมือนกาต้มน้ำ) สุดท้ายฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ในปัจจุบัน เพื่อให้มองเห็นเป็นรูปธรรมว่าในช่วงปี คศ.1990-2000 ในประเทศอาเซียนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างร้อยละ 4-7 ต่อปี อัตราการเพิ่มของประชากรร้อยละ 2-3 ต่อปี มีการทำลายป่าไม้ไปปีละประมาณ 14,375 ล้านไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูก ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศของโลก ประมาณ 46.5 ล้านตัน/ปี หรือ 29% ของทั่วโลก และจากสาเหตุกิจกรรมดังกล่าวของทุกประเทศ คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่บรรยากาศโลกมากกว่า 30,000 ล้านตัน/ปี

          การเกิดภาวะโลกร้อน มีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกมากขึ้น ปกติก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมบรรยากาศของโลกมีจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ยอมให้แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานแสงคลื่นสั้นผ่านมาสู่พื้นผิวโลก ทำให้อุณหภูมิของโลกอบอุ่นพอ เหมาะแก่สิ่งมีชีวิตที่ดำรงอาศัยอยู่ในโลก แล้วสะท้อนกลับเป็นความร้อนพลังงานคลื่นยาวออกนอกโลก การที่ประชากรของโลกปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทำให้การสะท้อนพลังงานความร้อนออกไปนอกโลกได้น้อยลง เกิดการสะสมความร้อนมากขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก อุณหภูมิของโลกโดยรวมจึงสูงขึ้น ทำให้ลมฟ้าอากาศแปรปรวน ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

          จากการศึกษาของศูนย์วิจัยฉะเชิงเทรา พบว่า ยางพาราสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 1.72 เมตริกตัน/ไร่/ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกยางกว่า 14.35 ล้านไร่ ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละไม่น้อยกว่า 16.54 เมตริกตัน


 การปลูกยางพารา ช่วยลดภาวะโลกร้อนและทำให้สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติดีขึ้น เพราะการปลูกยางพาราต้องใช้ระยะเวลาการปลูกยาวนาน จากผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร พบว่า ต้นยางพาราสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเก็บรักษาในรูปสารคาร์บอนชนิดต่างๆ ได้ไม่น้อยกว่า 1.7 เมตริกตัน/ไร่/ปี ถ้าวงจรการปลูกสร้างสวนยางพารา ตั้งแต่ปลูกจนถึงการตัดโค่น 25 ปี จะสามารถกักเก็บก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 21.2 เมตริกตัน/ไร่ ที่อยู่ในสภาพของอินทรีย์วัตถุ ซากใบ กิ่งก้าน ผล เมล็ด ไม่น้อยกว่า 8 เมตริกตัน/ไร่ เป็นอาหารพืชและสัตว์ แล้วสลายเป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่พื้นดินหมุนเวียนกลับมาใช้อีก และจะสามารถกักเก็บสารคาร์บอนได้ 43 เมตริกตัน/ไร่ ไว้ในต้นยาง เพื่อสร้างผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ ผลผลิตไม่ว่าจะเป็นน้ำยางหรือไม้ยางมาไว้ในระบบอุตสาหกรรม ยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุหรือไม่ใช้งานแล้วมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นวัสดุอื่นได้ เช่น ล้อยางรถยนต์เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วก็นำมาดัดแปลงเป็นถังขยะ หรือวัสดุกันกระแทกสำหรับเรือได้อีก ไม่ต้องนำไปเผาทำลายเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้เพิ่มขึ้นได้อีกในระยะเวลาอันสั้น และจากการที่ยางพารามีอายุยาวนาน ทำให้สภาพพื้นดินที่ถูกปกคลุมด้วยต้นยางอย่างต่อเนื่องยาวนาน ลดการถูกกระแสลมและน้ำฝนที่ตกชะล้าง โดยเฉพาะการปลูกยางในพื้นที่ลาดชันหรือภูเขาในระบบการทำขั้นบันได (แนวระดับ) และมีการปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวจะเป็นการลดการพังทลายของหน้าดินอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนั้นแล้ว การประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา ยังเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพราะปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 20 หรือ 25 ปี

          จากการที่ยางพาราเป็นพืชยืนต้นมีทรงพุ่มใหญ่ ทำให้สามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์จากบรรยากาศได้มาก ในขบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุและสารอาหารที่รากต้นยางดูดซึมมาจากพื้นดินให้เป็นน้ำตาล และอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นแล้วปล่อยธาตุออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศแทน ช่วยให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ขึ้น ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวเพิ่มก๊าซเรือนกระจกแก่โลก

          จะเห็นได้ว่า การปลูกยางพาราของประเทศไทยในปัจจุบันประมาณ 13 ล้านไร่ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700-1,500 ตัน/วัน เป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุสร้างภาวะโลกร้อนได้อย่างมากในภาวะปัจจุบัน ซึ่งมีการบุกรุกทำลาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า

จากงานวิจัยพบว่า
               ลำต้นยางพาราอายุ 9 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 8.3 เมตริกตัน/ไร่
               ลำต้นยางพาราอายุ 12 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 10.9 เมตริกตัน/ไร่ 
               ลำต้นยางพาราอายุ 18 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 15.2 เมตริกตัน/ไร่
               ลำต้นยางพาราอายุ 25 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 22.0 เมตริกตัน/ไร่

          ยางพารา สร้างมวลชีวภาพไม่น้อยกว่า 5.68 เมตริกตัน/ไร่/ปี ทิ้งเศษซากใบและเศษไม้เป็นแร่ธาตุหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.12 เมตริกตัน/ไร่/ปี และการที่มีระบบปลูกพืชเป็นแถวขวางแนวการลาดเทของพื้นที่ สามารถช่วยป้องกันการไหลเซาะพังของดินโดยเฉพาะสภาพพื้นที่ที่มีคามลาดเอียงและลาดชัน การปลูกยางแบบขั้นบันได จะช่วยลดปัญหาการพังทลายของดินได้

          นอกจากนี้ ยางพารายังเป็นพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันการกำจัดโรค แมลงและวัชพืชน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น ถือเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ยางพาราเป็นพลาสติกธรรมชาติที่ผลิตจากพืช มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและประหยัดพลังงาน 7 – 10 เท่า น้อยกว่าการผลิตยางเทียมพลาสติกสังเคราะห์ที่ได้จากฟอสซิล น้ำมันดิบ โดยยางธรรมชาติใช้พลังงานผลิต 16 จิกกะจูลล์/เมตริกตัน ขณะที่ยางสังเคราะห์ใช้พลังงานผลิต 110 – 174 จิกกะจูลล์/เมตริกตัน ขณะที่การผลิตยางแผ่นดิบใช้กรดอินทรีย์ เช่น กรดฟอร์มิค หรือกรดน้ำส้มสายชู ทำให้ยางจับตัวของเสียที่เหลือจากการทำยางแผ่นมีปริมาณไม่มากเทียบเท่ากับของเยที่ทิ้งจากการซักล้างในครัว

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกยางพารานอกจากจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรที่ปลูกแล้ว ยางพารายังเป็นพืชที่มีคุณอนันต์ในการทำให้สภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้นให้กับสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มก๊าซออกซิเจนในบรรยากาศที่ดีและเหมาะสมแก่มนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลก ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงในขณะนี้จะลดลงได้ด้วยการที่เกษตรกรชาวสวนยาง ได้ปลูกสร้างสวนยางพาราเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน (http://www.rubber.co.th/phayao/Warming.html)

คนไทยสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร


          เพื่อไม่ให้ประชากรโลกรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จึงควรร่วมมือกัน ในการรักษาสมดุลทางธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้
               1.  รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากยางพารา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถหมุนเวียนปรับเปลี่ยนได้หลายระดับ ไม่ถูกย่อยสบายหรือเผาไหม้ คืนก๊าซเรือนกระจกกลับเข้าสู่บรรยากาศในระยะเวลาอันสั้น
               2.  ร่วมกันใช้ก๊าซธรรมชาติ แทนถ่านหินและน้ำมันในกระบวนการผลิตและการขนส่งต่างๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยออกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง โดยการใช้พลังงานบริสุทธิ์ เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานจากมวลชีวภาพ หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
               3.  รักษาสภาพป่าตามธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงอยู่ ไม่ให้ถูกทำลาย ฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ปลูกป่าทดแทนเพื่อรักษาเสริมสร้างและเพิ่มพูนแหล่งดูดซับ (Sink) กักเก็บ (Rexervion) การปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้เศรษฐกิจที่มีอายุยืนยาว สามารถกักเก็บมวลชีวภาพได้ปริมาณมาก
               4.  ศึกษาและปรับปรุงวิธีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับชนิดของพืช
               5.  ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและครัวเรือน
               6.  เพิ่มประสิทธิภาพในด้านการคมนาคม ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทดแทนเชื้อเพลิง หรือปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ เป็นต้น
** (ข้อมูลจาก : กลุ่มวิชาการภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา)