วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(6) การเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาจากในอดีต

พลวัตวัฒนธรรมชาวสวนยางพารา : ศึกษากรณีตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของชาวสวนยางพาราในด้านครัวเรือนและชุมชน ด้านการเกษตรและการทำสวนยางพารา และด้านความเป็นอยู่ ของชาวสวนยางพารา โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนปี 2515 และช่วงปี 2515 ถึงปัจจุบัน


ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2515 เป็นช่วงของการดำรงชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ เนื่องจากระบบนิเวศน์ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะครัวเรือนขนาดใหญ่นิยมการมีบุตรมาก ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สำหรับบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบจะแบ่งตามเพศอย่างชัดเจน ภายหลังปี พ.ศ. 2515 มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งชาวสวนยางจะต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ดังนี้

          - ด้านภูปัญญา  เนื่องมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์ยางพารามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ธุรกิจยางพาราจำเป็นต้องขยายตัว แต่ในขณะที่ราคาน้ำยางสด หรือยางแผ่นกลับลดลง ทำให้เกษตรกรขาดทุน ไม่สามารถทำต่อไปได้ บางรายยอมขายสวนยางให้แก่โรงงานใหญ่ๆ ที่มากว้านซื้อสวนยาง เนื่องจากทราบโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้ผลิตสินค้าได้มากตามที่ตลาดต้องการ ยิ่งชาวสวนเลิกประกอบอาชีพทำสวนยางมากขึ้นเท่าไหร่ การถ่ายทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมก็จะหายไป เยาวชนรุ่นใหม่จะไม่เข้าใจรากเหง้าเศรษฐกิจพอเพียงพื้นบ้านที่เคยสืบทอดต่อๆ กันมา น้ำใจไมตรีที่เคยช่วยเหลือกัน ความรักความสามัคคีในชุมชนก็จะค่อยๆ เลือนหายไปด้วยเช่นกัน

           - ด้านการประกอบอาชีพ  จากการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นการทำนาในที่ราบหรือที่ลุ่ม มีการทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่ดอนหรือที่สูง นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัวควาย เพื่อใช้แรงงาน พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การผลิตทางการเกษตรในช่วงนี้นิยมทำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักโดยเฉพาะการทำนา การหาของป่า ต่อมาในช่วงหลังพื้นที่ที่เคยทำไร่เลื่อนลอยถูกเปลี่ยนมาปลูกยางพารา การปลูกยางพาราในช่วงแรกนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองหรือที่เรียกว่า “ยางน้ำ” ซึ่งทำการปลูกกันด้วยเมล็ดแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ หลังจากนั้นเมื่อต้นโตได้ขนาดจึงทำการกรีดเพื่อทำเป็นก้อนยางออกจำหน่าย การปรับตัวเข้าสู่ระบบการเกษตรยุคใหม่ ยางพาราเข้ามามีบทบาทมากต่อชีวิตผู้คนในชุมชน ชาวบ้านเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกยางพารา ละทิ้งการทำนาและพื้นที่นาบางแห่งถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา การปลูกยางพาราถูกเปลี่ยนจากการปลูกด้วยเมล็ดเป็นการใช้ต้นกล้าที่ผ่านการติดตาและพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกคือพันธุ์ RRIM 600 และ BPM 24 แทนยางพันธุ์พื้นเมือง ตลอดจนมีการบำรุงรักษาใส่ปุ๋ยเคมี กำจัดวัชพืช และนำเครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วยทำให้ในปัจจุบันการลงทุนค่อนข้างสูง การจำหน่ายยางพาราส่วนใหญ่จะจำน่ายในรูปของยางแผ่น

          - ด้านรายได้  เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ความต้องการแรงงานสูงขึ้นไปด้วย แต่การจ่ายค่าแรงให้กับคนไทยจะต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมหันไปนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานแทนคนไทย เช่น พม่า หรือมอญ เพราะค่าแรงถูกกว่ามาก ยิ่งส่งผลกระทบทำให้คนไทยจำนวนมากไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ส่งผลกระทบไปถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่องกัน

แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟู และพัฒนาผลิตภัณพ์จากยางพารา  
          1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราอย่างเป็นระบบ เช่น จัดทำเอกสาร คู่มือ หลักการ และกระบวนการผลิต เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาและใช้ในการพัฒนา โดยบูรณาการร่วมกับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ชุมชนต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การวิจัยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม
         
          2. การอนุรักษ์ อาชีพการทำสวนยางพาราในปัจจุบัน คงเหลือเพียงผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน ถึงสูงอายุ ซึ่งไม่ให้การสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่ก้าวหน้าหรือไม่มีอนาคต และไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเท่าที่ควร ฉะนั้น แนวทางการอนุรักษ์จะต้องให้การสนับสนุนให้อาชีพนี้มีความมั่นคง ปลุกจิตสำนึกของคนในท้องถิ่นให้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิปัญญาต่อไป

          3. การฟื้นฟู ให้การศึกษา อบรม ให้มีการทดลอง ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งสนับสนุนทั้งในส่วนของเงินลงทุน เช่น จัดสถาบันการเงินให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรอาศัยอยู่ได้ จัดพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกยางพารา เพื่อให้ชาวสวนมีกำลังใจในการสืบทอดรักษาการปลูกยางพาราต่อไป

          4. การพัฒนา ปัจจุบันมีการวิจัย ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำส่วนประกอบต่างๆ ของยางพารามาประดิษฐ์ ให้มีความแปลกใหม่และหลากหลายมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาอย่างเป็นระบบ ลดค่าใช้จ่าย ทำให้การผลิตง่ายขึ้น เช่น การนำส่วนประกอบต่างๆ ของต้นยางพารามาเพิ่มมูลค่า เช่น การนำน้ำมันในเมล็ดยาง พารามาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล หรือนำน้ำยางมาผลิตเป็นครีมหน้าขาว เป็นต้น เหล่านี้เป็นการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน

          5. การถ่ายทอด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
               - การถ่ายทอดจากข้าราชการ เช่นกระทรวงเกษตร ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยการจัดอบรม ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
               - การถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานได้มีวิชาชีพในการทำมาหากิน การเรียนรู้จนเกิดความชำนาญ จะทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่ หลากหลาย สวยงาม ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

          6. การส่งเสริมกิจกรรมและการเผยแพร่แลกเปลี่ยน เช่น การไปศึกษาดูงานจากชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์และแนวคิดที่แตกต่าง สามารถนำมาปรับใช้ในชุมชนของตนเองต่อไป

          7. การยกย่องและเสริมสร้างปราชญ์ด้านภูมิปัญญาและหัตถกรรมจากยางพารา โดยการสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ และสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีการยกย่องและประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดความภาคภูมิใจ เป็นกำลังใจการดำเนินงานด้านภูมิปัญญา และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ด้วยความเต็มใจ

          การเปลี่ยนแปลงของภูมิปัญญาในอดีต จากการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อครอบครัว และคนในและนอกชุมชน ต่อมา มีการเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตชาวสวนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งในด้านภูมิปัญญา และการประกอบอาชีพดั้งเดิม

ปัญหาและอุปสรรคของชาวสวนยางพาราในปัจจุบัน ได้แก่
          1. ปัญหาราคายางที่ไม่แน่นอน คุณภาพยางไม่เหมาะสมกับราคายาง เกษตรกรขาดทุน
          2. ปัญหาราคาวัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร มีราคาสูงขึ้น
          3. ปัญหาโรคและแมลงศัตรูยางพารา ทำให้เกษตรต้องซื้อหาปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง
          4. ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น ฝนตกติดต่อกันยาวนาน
          5. ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง
         
ข้อเสนอแนะ
          1. ส่งเสริมให้ประชาชน และเยาวชนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา สร้างความเข้าใจให้เห็นคุณค่าของต้นยางพารา ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน
          2. อบรมให้ความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มคุณภาพน้ำยางสดและยางแผ่น รวมถึงให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยชีวภาพ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
          3. อบรมให้ความรู้ในเรื่องการตลาด การจัดหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้รู้เท่าทันพ่อค้าคนกลาง และให้ช่วยเหลือเกษตรกรหากราคายางตกต่ำ
          4. สนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมในรูปแบบกลุ่มของชาวสวนยางพารา เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยั่งยืน ส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
          5. สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีระหว่างชุมชน เพื่อจะได้เปิดโลกทัศน์ นำมาประยุกต์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น
          6. ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เช่น ให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด หรือให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

แนวทางการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต  แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ
          - ด้านการผลิต ได้แก่ การพัฒนาสายพันธุ์ยางพารา พัฒนาวิธีการปลูกและการดูแลยางพารา ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ปลูกยางพารา โดยมีองค์กรให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับราคา ทำวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือสร้างสินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตจากยางพารา
         
          - ด้านการตลาด รัฐควรมีการพัฒนาตลาดซื้อขายยางพาราของไทย ให้เป็นตลาดกลางในภูมิภาค ส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตร ใช้ประโยชน์จากการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ส่งเสริมการนำน้ำยางไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงเร่งหาตลาดใหม่เพื่อรองรับผลผลิตที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคต     ** (ข้อมูลจากเวปไซด์ www.fpo.go.th สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น