วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(3) ยางพาราช่วยลดโลกร้อนอย่างไร

  ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งการที่มนุษย์เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า การตัดไม้ทำลายป่า และสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวคอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ที่เราเรียกกันว่าภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันเราจะเห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนเแปลงของสภาวะอากาศที่ผิดปกติ เช่น ภูเขาน้ำแข็งในขั้วโลกละลายมากขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส น้ำในทะเลสะสมความร้อนจนมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติ (โลกเหมือนกาต้มน้ำ) สุดท้ายฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ในปัจจุบัน เพื่อให้มองเห็นเป็นรูปธรรมว่าในช่วงปี คศ.1990-2000 ในประเทศอาเซียนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างร้อยละ 4-7 ต่อปี อัตราการเพิ่มของประชากรร้อยละ 2-3 ต่อปี มีการทำลายป่าไม้ไปปีละประมาณ 14,375 ล้านไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูก ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศของโลก ประมาณ 46.5 ล้านตัน/ปี หรือ 29% ของทั่วโลก และจากสาเหตุกิจกรรมดังกล่าวของทุกประเทศ คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่บรรยากาศโลกมากกว่า 30,000 ล้านตัน/ปี

          การเกิดภาวะโลกร้อน มีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกมากขึ้น ปกติก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมบรรยากาศของโลกมีจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ยอมให้แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานแสงคลื่นสั้นผ่านมาสู่พื้นผิวโลก ทำให้อุณหภูมิของโลกอบอุ่นพอ เหมาะแก่สิ่งมีชีวิตที่ดำรงอาศัยอยู่ในโลก แล้วสะท้อนกลับเป็นความร้อนพลังงานคลื่นยาวออกนอกโลก การที่ประชากรของโลกปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทำให้การสะท้อนพลังงานความร้อนออกไปนอกโลกได้น้อยลง เกิดการสะสมความร้อนมากขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก อุณหภูมิของโลกโดยรวมจึงสูงขึ้น ทำให้ลมฟ้าอากาศแปรปรวน ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

          จากการศึกษาของศูนย์วิจัยฉะเชิงเทรา พบว่า ยางพาราสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 1.72 เมตริกตัน/ไร่/ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกยางกว่า 14.35 ล้านไร่ ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละไม่น้อยกว่า 16.54 เมตริกตัน


 การปลูกยางพารา ช่วยลดภาวะโลกร้อนและทำให้สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติดีขึ้น เพราะการปลูกยางพาราต้องใช้ระยะเวลาการปลูกยาวนาน จากผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร พบว่า ต้นยางพาราสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเก็บรักษาในรูปสารคาร์บอนชนิดต่างๆ ได้ไม่น้อยกว่า 1.7 เมตริกตัน/ไร่/ปี ถ้าวงจรการปลูกสร้างสวนยางพารา ตั้งแต่ปลูกจนถึงการตัดโค่น 25 ปี จะสามารถกักเก็บก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 21.2 เมตริกตัน/ไร่ ที่อยู่ในสภาพของอินทรีย์วัตถุ ซากใบ กิ่งก้าน ผล เมล็ด ไม่น้อยกว่า 8 เมตริกตัน/ไร่ เป็นอาหารพืชและสัตว์ แล้วสลายเป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่พื้นดินหมุนเวียนกลับมาใช้อีก และจะสามารถกักเก็บสารคาร์บอนได้ 43 เมตริกตัน/ไร่ ไว้ในต้นยาง เพื่อสร้างผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ ผลผลิตไม่ว่าจะเป็นน้ำยางหรือไม้ยางมาไว้ในระบบอุตสาหกรรม ยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุหรือไม่ใช้งานแล้วมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นวัสดุอื่นได้ เช่น ล้อยางรถยนต์เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วก็นำมาดัดแปลงเป็นถังขยะ หรือวัสดุกันกระแทกสำหรับเรือได้อีก ไม่ต้องนำไปเผาทำลายเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้เพิ่มขึ้นได้อีกในระยะเวลาอันสั้น และจากการที่ยางพารามีอายุยาวนาน ทำให้สภาพพื้นดินที่ถูกปกคลุมด้วยต้นยางอย่างต่อเนื่องยาวนาน ลดการถูกกระแสลมและน้ำฝนที่ตกชะล้าง โดยเฉพาะการปลูกยางในพื้นที่ลาดชันหรือภูเขาในระบบการทำขั้นบันได (แนวระดับ) และมีการปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวจะเป็นการลดการพังทลายของหน้าดินอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนั้นแล้ว การประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา ยังเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพราะปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 20 หรือ 25 ปี

          จากการที่ยางพาราเป็นพืชยืนต้นมีทรงพุ่มใหญ่ ทำให้สามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์จากบรรยากาศได้มาก ในขบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุและสารอาหารที่รากต้นยางดูดซึมมาจากพื้นดินให้เป็นน้ำตาล และอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นแล้วปล่อยธาตุออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศแทน ช่วยให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ขึ้น ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวเพิ่มก๊าซเรือนกระจกแก่โลก

          จะเห็นได้ว่า การปลูกยางพาราของประเทศไทยในปัจจุบันประมาณ 13 ล้านไร่ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700-1,500 ตัน/วัน เป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุสร้างภาวะโลกร้อนได้อย่างมากในภาวะปัจจุบัน ซึ่งมีการบุกรุกทำลาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า

จากงานวิจัยพบว่า
               ลำต้นยางพาราอายุ 9 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 8.3 เมตริกตัน/ไร่
               ลำต้นยางพาราอายุ 12 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 10.9 เมตริกตัน/ไร่ 
               ลำต้นยางพาราอายุ 18 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 15.2 เมตริกตัน/ไร่
               ลำต้นยางพาราอายุ 25 ปี ช่วยเก็บคาร์บอนได้ 22.0 เมตริกตัน/ไร่

          ยางพารา สร้างมวลชีวภาพไม่น้อยกว่า 5.68 เมตริกตัน/ไร่/ปี ทิ้งเศษซากใบและเศษไม้เป็นแร่ธาตุหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.12 เมตริกตัน/ไร่/ปี และการที่มีระบบปลูกพืชเป็นแถวขวางแนวการลาดเทของพื้นที่ สามารถช่วยป้องกันการไหลเซาะพังของดินโดยเฉพาะสภาพพื้นที่ที่มีคามลาดเอียงและลาดชัน การปลูกยางแบบขั้นบันได จะช่วยลดปัญหาการพังทลายของดินได้

          นอกจากนี้ ยางพารายังเป็นพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันการกำจัดโรค แมลงและวัชพืชน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น ถือเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ยางพาราเป็นพลาสติกธรรมชาติที่ผลิตจากพืช มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและประหยัดพลังงาน 7 – 10 เท่า น้อยกว่าการผลิตยางเทียมพลาสติกสังเคราะห์ที่ได้จากฟอสซิล น้ำมันดิบ โดยยางธรรมชาติใช้พลังงานผลิต 16 จิกกะจูลล์/เมตริกตัน ขณะที่ยางสังเคราะห์ใช้พลังงานผลิต 110 – 174 จิกกะจูลล์/เมตริกตัน ขณะที่การผลิตยางแผ่นดิบใช้กรดอินทรีย์ เช่น กรดฟอร์มิค หรือกรดน้ำส้มสายชู ทำให้ยางจับตัวของเสียที่เหลือจากการทำยางแผ่นมีปริมาณไม่มากเทียบเท่ากับของเยที่ทิ้งจากการซักล้างในครัว

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกยางพารานอกจากจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรที่ปลูกแล้ว ยางพารายังเป็นพืชที่มีคุณอนันต์ในการทำให้สภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้นให้กับสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มก๊าซออกซิเจนในบรรยากาศที่ดีและเหมาะสมแก่มนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลก ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงในขณะนี้จะลดลงได้ด้วยการที่เกษตรกรชาวสวนยาง ได้ปลูกสร้างสวนยางพาราเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน (http://www.rubber.co.th/phayao/Warming.html)

คนไทยสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร


          เพื่อไม่ให้ประชากรโลกรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จึงควรร่วมมือกัน ในการรักษาสมดุลทางธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้
               1.  รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากยางพารา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถหมุนเวียนปรับเปลี่ยนได้หลายระดับ ไม่ถูกย่อยสบายหรือเผาไหม้ คืนก๊าซเรือนกระจกกลับเข้าสู่บรรยากาศในระยะเวลาอันสั้น
               2.  ร่วมกันใช้ก๊าซธรรมชาติ แทนถ่านหินและน้ำมันในกระบวนการผลิตและการขนส่งต่างๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยออกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง โดยการใช้พลังงานบริสุทธิ์ เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานจากมวลชีวภาพ หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
               3.  รักษาสภาพป่าตามธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงอยู่ ไม่ให้ถูกทำลาย ฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ปลูกป่าทดแทนเพื่อรักษาเสริมสร้างและเพิ่มพูนแหล่งดูดซับ (Sink) กักเก็บ (Rexervion) การปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้เศรษฐกิจที่มีอายุยืนยาว สามารถกักเก็บมวลชีวภาพได้ปริมาณมาก
               4.  ศึกษาและปรับปรุงวิธีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับชนิดของพืช
               5.  ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและครัวเรือน
               6.  เพิ่มประสิทธิภาพในด้านการคมนาคม ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทดแทนเชื้อเพลิง หรือปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ เป็นต้น
** (ข้อมูลจาก : กลุ่มวิชาการภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น